ไล่ล่า 'ฮิปสเตอร์' เทรนด์กำกวม สุดเฝอ แต่ทำไมใครก็อยากเป็น?

  • 11 พ.ค. 2563
  • 4579
หางาน,สมัครงาน,งาน,ไล่ล่า 'ฮิปสเตอร์' เทรนด์กำกวม สุดเฝอ แต่ทำไมใครก็อยากเป็น?

ว่ากันว่า 'ฮิปสเตอร์' กลายเป็นคำที่หลายคนค้นหามากที่สุดในช่วงนี้ โดยเฉพาะ 'วัยรุ่น' ที่ชอบทำตัวแตกต่าง คำถามก็คือ มันคืออะไร จะฮิตได้นานสักแค่ไหน โดยเฉพาะเมืองไทย ไทยรัฐออนไลน์พาไปหาคำตอบกัน...

เร่ิมสตาร์ตไล่ล่า กระแสฮิปสเตอร์มาจากไหน! 

เมื่อลองกดหาความหมายคำว่าฮิปสเตอร์ ในกูเกิล เราจะเจอความหมายตามเว็บไซต์ ตามบล็อกต่างๆ อย่างมากมาย แต่รวมๆ แล้วคล้ายๆ กับที่นิตยสาร โพซิชั่นนิ่งออนไลน์ ระบุเอาไว้เป็นอย่างดีถึงคำนี้ว่า

ประเทศในตะวันตก 'ฮิปสเตอร์' เป็นกระแสที่มีมานานแล้ว แต่เพิ่งจะมาเป็นประเด็นในสังคมไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พูดอย่างกว้างๆ ฮิปสเตอร์ เป็นคำที่ใช้เรียกหรืออธิบายถึงคนที่ชอบทำตัวแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ฟังดูแล้วก็น่าจะคล้ายๆ กับ “เด็กแนว” เป็นกลุ่มคนที่เชื่อว่าตัวเองดำเนินชีวิตโดยไม่ไหลไปตามกระแสของอะไรง่ายๆ มีรสนิยมแปลกแตกต่าง มองเห็นเรื่องต่างๆ ด้วยมุมมองไม่เหมือนใคร และรู้สึกปลอดภัยเมื่อพบว่าตนเองกำลังเดินอยู่ในวิถีที่แตกต่าง

ว่ากันว่าสไตล์นี้คือฮิปสเตอร์

แม้ชาว 'ฮิปสเตอร์' จะไม่ค่อยชอบคำว่า 'ฮิปสเตอร์' นี้ ที่ใครๆ ตีตราสักเท่าไหร่ ใช่, เพราะถ้าเข้าใจกันง่ายๆ ก็ไม่ใช่คอนเซปต์ชาว 'ฮิปสเตอร์' กันละซิ!

เจ้าพ่อเด็กแนว : ถอดรหัส 'ฮิปสเตอร์' เทรนด์โคตรฉาบฉวย

ฮิปสเตอร์คำโคตรจะกำกวมเลย...น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เจ้าพ่อเด็กแนว บอกหลังถูกถามถึงนิยาม ฮิปสเตอร์ เทรนด์ใหม่ที่หลายคนกล่าวถึง พร้อมกับอธิบายต่อว่า ฮิปสเตอร์ ตนเคยเขียนในไทยรัฐออนไลน์ ในเชิงจิกกัดแดกดันอะไรเรื่องนี้ เพราะเมื่อคนเราอยู่ในยุคที่กระแสเฉี่ยวกรากมาก จึงเกิดปรากฏการณ์เบื่อเทรนด์ เบื่อกระแส เบื่อความนิยม คนก็พยายามฉีกออกไปปลีกย่อยมากมาย 

น้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

"ปัญหาคือเคยได้ยินคำว่ากระแสนอกกระแสไหม พอการนอกกระแสมันนิยม คนก็นิยมนอกกระแสกัน เพราะนอกกระแสมันก็กลายเป็นกระแสอย่างหนึ่ง ซึ่งมันเลยค่อนข้างจะกำกวมพอสมควร ฮิปสเตอร์อยู่ในภาวะนี้ ที่สำคัญคนเราทุกคนมันล้วนแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ เราดันกลัวคนอื่นไม่รู้ว่าเราแตกต่าง เลยทำให้เราเหมือนกันหมด ยิ่งพอมีโซเชียลมีเดีย เราก็พยายามแสดงอาการให้โลกรู้ว่าเราแตกต่าง สุดท้ายทุกคนก็เหมือนกันหมดอยู่ดี นี่คือโดยรวมคำว่าฮิปสเตอร์ในแง่ของหลักการ แต่ในแง่ของรูปธรรม น้าเน็กย้ำว่า ฮิปสเตอร์ไม่ใช่ประเด็นที่อ้างกันว่า ถ้าเป็นต้องแต่งตัวอย่างนี้ มีไลฟ์ไตล์แบบนี้ ต้องกินกาแฟ อ่านแมกกาซีนแบบนี้ ถ้าจำกัดคำนี้แค่นี้ มันโคตรจะฉาบฉวยเลย 

"เขาบอกว่าต้องกินกาแฟร้านอาร์ตๆ ชิลๆ ปฏิเสธแฟรนไชส์ แบบที่ว่าแล้วมันแตกต่างกันตรงไหนล่ะ มันก็กลายเป็นกระแสอะไรบางอย่างขึ้นมาพยายามหลีกเลี่ยงอะไรที่มันเป็น mainstream (ทางหลัก) แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นกระแสอยู่ดี มีคนบอกว่าเทรนด์เป็นเรื่องที่จับต้องยากมาก 'กว่าเราจะรู้ว่ามันเป็นเทรนด์ มันก็เป็นเทรนด์ไปแล้ว พอเรากระโดดเข้าไปตามมัน มันก็หนีเราไปแล้ว' พูดง่ายๆ ว่า คือการไล่จับเทรนด์มันยาก กว่าจะรู้ว่ามันมี มันมาแล้ว กว่าจะอยู่ในมัน ก็กำลังจะไปแล้ว ฮิปสเตอร์ก็จะเป็นอีกวูบหนึ่งที่จะผ่านไปตามกลไกของโลก ซึ่งอะไรบางอย่างมาเร็วไปเร็วขึ้นทุกที" 

คุณกำลังบอกว่าอะไรที่เป็นเทรนด์อย่าไปอินมาก? เจ้าพ่อเด็กแนวตอบเร็วว่า เดี๋ยวมันก็จะมีวิธีการเรียกอะไรแบบนี้ออกมาใหม่ๆ แล้วก็เป็นวิธีการเรียกอีกอย่างหนึ่ง เดี๋ยวมันก็เอาต์ไป ก็จะมีคำใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ แต่สุดท้ายหลักการยังเหมือนเดิม

"คนมันก็จะหนีออกไปเรื่อยๆ ความนิยมก็จะวนลูปกันไป-มา พอมันเริ่มวนลูปไม่ไหวแล้วก็มีการปรับดัดแปลง แล้วโซเชียลมีเดีย โดยความที่ทุกคนมันเข้าถึงกันได้หมด อะไรทุกอย่างมันกลายเป็นเทรนด์ได้หมด แม้กระทั่งไลฟ์สไตล์ ปกติการนั่งร้านกาแฟที่ไม่ใช่แบรนด์เนมมันเป็นเรื่องบุคคลมากๆ ใครจะไปรู้ว่ากูไปกินที่ไหนอะไรยังไง พอมีการแชร์ การบอกต่อทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเทรนด์ได้หมด เพราะทุกคนแม่งเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของทุกคนได้หมด หรือที่เขาบอกเป็นชาวฮิปสเตอร์ต้องปั่นวินเทจ แนวนี้ก็เป็นเทรนด์ ก็จะไปทับซ้อนกับภาวะโหยหาอดีต เป็นเทรนด์ซ้อนเทรนด์ รสนิยมซ้อนรสนิยมเข้าไปอีก ซึ่งจักรยานวินเทจก็กลายเป็นเทรนด์อีกเซ็กเมนต์หนึ่งที่นอกกระแสหลัก เพียงแต่ว่า ไอ้การนอกกระแส ไอ้การสร้างอะไรบางอย่าง ท้ายที่สุดเราต้องการให้มันฮิตด้วย คือถ้าเกิดว่าสักจะแตกต่าง สักแต่ว่าต่อต้านกระแสหลัก แล้วมันไม่ฮิตถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะว่าฮิปสเตอร์เนี่ย พยายามต่อต้านกระแสหลัก แต่ใจนึงก็อยากให้มันฮิตด้วย"

'เก่งจริงนุ่งถุงปุ๋ยไปสิ ฮิปสเตอร์แน่ๆ...' น้าเน็กหัวเราะดัง แต่ถ้าเกิดไม่มีใครทำตามไม่กลายเป็นเทรนด์เนี่ย มันก็เป็นการนอกกระแสที่ไม่มีความหมาย เราอยากให้ความนอกกระแสนั้นเป็นกระแสด้วย ความต้องการย้อนแย้งมาก กูอยากต่าง แต่กูก็อยากให้ทุกคนต่างเหมือนกัน ฮิปสเตอร์และนิยามมันโคตรกำกวมเลย

"ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนอยากอยู่ในกระแส อยากได้รับการยอมรับ อยากมีตัวตน อยากประกาศเป็นจุดหนึ่งของตัวเอง แต่ก็อยากจะแตกต่างมันก็เลยเป็นการหนีออกไป ขณะเดียวกัน ทุกคนรักความเป็นส่วนตัว แต่กูอยากให้ความส่วนตัวนั้นอยู่ในส่วนรวมเหมือนเวลาขึ้นรถไฟฟ้า เวลามีคนเต็มคันรถเราจะอุ่นใจว่ามีคน แต่ไม่ได้อยากคุยกับใคร แต่ถ้าเกิดขึ้นรถไฟฟ้าไป ถ้ามึงไม่อยากคุยกับใคร มึงก็เลือกขบวนโล่งๆ ดิ กูก็นอยด์อีก ก็ไม่อยากขึ้น เหมือนเราไม่อยากยุ่งกับใครนะ แต่เราก็ชอบไปกินร้านอาหารที่คนแน่นๆ แต่เราไม่ได้อยากเข้าร้านแน่น เพราะไปคุยกับใครเยอะแยะ อยากไปอยู่เงียบๆ ของกู ทุกคนเราอยากมีความเป็นส่วนตัวในความเป็นส่วนรวม เราอยากแตกต่าง ฮิปสเตอร์เนี่ยอยากแตกต่างแต่อยากได้การยอมรับ ซึ่งอยากจะแตกต่างจริงๆ คุณต้องไม่แตะต้องโซเชียล ต้องทำอะไรที่มันนอกกระแส นุ่งถุงปุ๋ย มึงฮิปสเตอร์แน่ๆ นุ่งแล้วอย่าแชร์ลงโซเชียลด้วยนะ ไม่มีใครรู้เลย มึงอยู่ในโลกเลยก็ได้ ซึ่งแบบนี้ฮิปสเตอร์ไม่ชอบด้วย เพราะอยากแตกต่าง แต่ขณะเดียวกันก็อยากได้การยอมรับด้วย" 

สุดท้ายก็เหมือนเดิม คนในยุคปัจจุบันในยุคโซเชียลมีเดีย ทันทีที่เลือกใช้โซเชียลที่มากกว่าการสื่อสาร ทุกคนก็อยากจะประกาศตัวตนทั้งนั้น แต่อยากจะเป็นแบบแตกต่าง แต่อยากได้รับการยอมรับอยู่ดี

"ให้ฟันธงว่าฮิปสเตอร์จะฮิตอีกนานไหม ฮิตครับ เพียงแต่ว่ารูปแบบอาจจะวิวัฒนาการไปเรื่อย มันอาจจะเป็นคำเรียกอะไรสักอย่างขึ้นมา สำหรับผมคำนี้ไม่น่าฮิตในวงกว้าง เพราะกำกวมจนเอาไปสืบทอดยาก แล้วมันอยู่ในกลุ่มคนจำกัด เพราะอย่างน้อยๆ ของบางอย่างถ้าฮิตต้องมีคำว่าแมสเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นี่แมสไม่เข้าใจ ทำไมต้องจักรยานวินเทจวะ ทำไมต้องไม่กินร้านกาแฟแบรนด์เนมวะ ถ้าเกิดสมมติว่ากูเป็นคนไม่กินกาแฟ เราก็กระโดดเกาะเทรนด์นี้ไม่ได้เลย ทำไมกูต้องเลี้ยงกระบองเพชรวะ บ้านกูต้นไม้เต็มเลย แต่ผมก็ชื่นชมวิธีการ ซึ่งสุดท้ายไม่นานก็จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา ก่อนหน้าคำว่าเด็กแนวยังนึกตอนสมัยผมเป็นเด็กฮาร์ด เด็กมีปัญหา อยู่ในยุคหนังเรื่องน้ำพุ เพียงแต่ว่าตอนนั้นลักษณะคือมันเป็นเชิงพฤติกรรม มันไม่ใช่เทรนด์ ซึ่งการเป็นเด็กฮาร์ดต้องมีองค์ประกอบที่ใช่มาก พ่อแม่มึงต้องเลิกกัน คนไหนพ่อแม่ไม่เลิกกันเป็นเด็กฮาร์ดไม่ได้ เป็นองค์ประกอบที่สร้างไม่ได้ แต่ฮิปสเตอร์มันเป็นแฟชั่น แค่เอากระบองเพชรมาตั้ง มีจักรยานวินเทจ ก็สามารถเป็นได้ ผมอยากมองให้เป็นเรื่องของแฟชั่น ที่มาแล้วก็ไป แล้วก็จะมีอันใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งยุคเราก็ได้แต่เฝ้ามองนวัตกรรมทางสังคมกันต่อไปเรื่อยๆ"

ฮิปสเตอร์เมืองไทย อธิบายปรากฏการณ์ ฮิปสเตอร์ เฝอเกินไป

ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมหนัง Mary is happy,Mary is happy (2013) และตน ถูกคนเรียกว่า ฮิปสเตอร์เหมือนกัน...เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังและนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าจับตา ยอมรับกันแบบตรงๆ

เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

"อย่างที่บอกมีคนถามผมว่าทำไมหนัง Mary is happy,Mary is happy ของผมถูกจัดอยู่ในข้อที่ฮิปสเตอร์ ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้เป็นกระแสอะไรแล้ว จนวันนี้หนังฉายมาเป็นปีแล้ว แถมฉายแค่ 5 โรง (หัวเราะ) ซึ่งผมก็มีแค่หน้าที่ทำหนังอย่างเดียว ส่วนใครจะตีตราว่ามันเป็นอะไรก็แล้วแต่ทุกคนเลย ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับคำนี้ ผมว่ามันเฝอมากตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน เพราะเข้าใจว่าเทรนด์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เฉพาะฮิปสเตอร์ทุกๆ 10 ปีก็จะวนกลับมา 1 ครั้ง สุดท้ายอยู่ที่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร คุณทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าทำให้คนอื่นเดือดร้อน ผมว่าเทรนด์นี้มีปัญหา หรือกระแสฮิตที่ว่ามีปัญหา แต่ถ้าไม่เดือดร้อนใคร ทำแล้วมีความสุขก็ทำได้ ฮิปสเตอร์แบบไม่เดือดร้อนใคร" ผู้กำกับรุ่นใหม่กล่าว

นักการตลาดฟันธง : ฮิปสเตอร์เอาใจยาก เพราะต้องการ Freedom

ขณะที่มามองในมุมนักการตลาดกันบ้าง ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดัง เจ้าของฉายาขาโหด สะท้อนปรากฏการณ์นี้ว่า ตนมองว่าเทรนด์ฮิปสเตอร์คล้ายๆ กับฮิปปี้ในปี 1960 โดยคอนเซปต์คือรักอิสรเสรีมาก บางคนไม่อาบน้ำอาบท่า ไว้หนวดไว้เครารุงรัง เป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามใคร เสื้อผ้าสไตล์ตัวเอง มีทรงผมของตัวเอง

ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย

"ในมุมการตลาดผมคิดว่าน่าจะเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ของนักการตลาด อย่างเด็กแนวเขาก็จะหาคนที่เป็นแนวที่สุด ในบรรดาเด็กแนวมันก็จะมีเด็กแนวของแนว อย่างโหน่งอะเดย์ เขาก็เรียกว่าศาสดาเด็กแนว คือคนกลุ่มนี้จะไม่ชอบกระแสหลัก ชอบทำอะไรที่แตกต่าง แต่กลุ่มฮิปสเตอร์มีความเป็น 'นิช' ในทางการตลาดใน 'นิช' มี 'วิช' คือมีกำลังซื้อ คนกลุ่มนี้เป็นคนมีตังค์ เช่น ขับรถจะไม่เหมือนใคร ใช้รุ่นแพงไปเลย หรือหาอะไรแปลกๆ ที่คนเขาไม่ใส่กัน มันจะเป็นขั้นที่ 5 ของมาสโลว์ (อับราฮัม มาสโลว์ เป็นศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแบรนดิส ผู้คิดค้น ทฤษฎีจิตวิทยามานุษยนิยมและทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ 1. ความสมบูรณ์ของชีวิต 2. ความเคารพนับถือ 3. มิตรภาพและความรัก 4. ความมั่นคงปลอดภัย 5. ความต้องการทางกายภาพ) คือมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่แคร์ ผมว่ากลุ่มนี้นักการตลาดต้องมาพิจารณาดีๆ คิดโปรดักต์อะไรให้สอดคล้องกับกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มนี้จะมีความเป็นแนว ไม่ง้อ ไม่ตามใคร"

"อย่างกลุ่มเกย์ที่ส่วนใหญ่มีพรสวรรค์มีการงานที่ทำเงินดี และมีกำลังซื้อสูงและไม่มีภาระครอบครัว..." ขาโหด นักการตลาดชื่อดังยกตัวอย่างและว่า จึงสามารถซื้อข้าวซื้อของที่แพงได้ แต่สินค้าที่จะตอบสนองกลุ่มนี้จะมีไม่มาก เพราะเขาอยู่กับความน้อย อยู่กับความต่าง ความไม่เหมือนคือจุดเด่น จะสร้างแนวตัวเอง ฉะนั้นสินค้าที่ตอบสนองกลุ่มต้องน้อย แต่ต้องแพง แบบรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น ถ้าจะกล้องก็ต้องไม่เหมือนคนอื่น ถ้าเป็นรองเท้าต้องสั่งตัด จะต้องเป็นรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่น แบบ 10 ใบในโลกอะไรทำนองนี้

"สินค้าของคนกลุ่มนี้อาจจะเป็นโอกาสให้ SME มากกว่าแบรนด์ใหญ่ อย่างเช่น เสื้อผ้าจากจตุจักร ของจากตลาดรถไฟ และยิ่งปัจจุบันมีสื่อในมือตัวเองเยอะมาก FB ทวิตเตอร์ IG ยูทูบ มันทำให้ความเป็นแนวฮิปสเตอร์สื่อออกไปได้แตกออกไปไกล ฮิปสเตอร์ต้องการความต่าง ไม่เหมือนสภาโจ๊กที่จะต้องมีความเหมือน ถามว่าได้กลิ่นฮิปสเตอร์ในไทยที่กำลังเป็นกระแสบ้างไหม มีเยอะในหนังสือผู้ชาย ในเน็ตก็เขียนเรื่องนี้เยอะ คนพวกนี้ผมว่าก็นำเข้ามาจากต่างประเทศ คือเห็นอะไรในเมืองนอกก็นำเข้ามาเลย ผมเชื่อว่าในแต่ละสังคมมันมีคนพวกนี้อยู่ แล้วพอมันก่อขึ้นมาเป็นแล้วคนเห็น ก็มาเขียนและพูดถึง ผมว่ามันมีมานานแล้วนะ คนที่ใส่เสื้อผ้าไม่เหมือนคนอื่น เลี้ยงสัตว์ไม่เหมือนคนอื่น มีมานานแล้วนะ ไม่ได้ค้นพบ เหมือน 'ยุคยัปปี้' ที่ต้องอยู่คอนโดฯ ทำงานเงินเดือน 7 หลัก มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราไปขุดขึ้นมา"

ในมุมการตลาดผมว่า นักการตลาดต้องถามว่า เข้าไปเซิร์ฟกลุ่มนี้แล้วคุ้มไหม...เขาเว้นจังหวะอธิบายและว่า เพราะคนกลุ่มนี้ก็ไม่เอาสิ่งที่นักการตลาดทำให้ คือมึงบอกแล้วกูจะไม่ทำ กูจะทำอะไรตรงข้ามกับมึง มึงใส่แบบนี้กูจะไม่ใส่ เอาใจลำบาก กลุ่มนี้เขาเป็นตัวของตัวเองสูง ฉันจะใส่เสื้อตัวนี้กางเกงตัวนี้กับรองเท้าคู่นี้ ขับรถอย่างนี้ เธอไม่ต้องบอกให้ฉันทำอะไร เขาจะสร้างเทรนด์ของตัวเองขึ้นมา ฉะนั้นลงไปอาจจะไม่คุ้มเพราะเอาใจยาก พูดง่ายๆ ลูกค้านำแบรนด์ เหมือนการเมืองมวลชนเล็กๆ ล้ำหน้าแกนนำ คนพวกนี้เขาต้องการมีผู้นำ

"สุดท้าย ถามว่ากระแสฮิปสเตอร์จะฮิตในเมืองไทยไหม นักการตลาดชื่อดังบอกว่าอยู่ที่ว่าสื่อหรือโซเชียลจะชูกระแสนั้นมากแค่ไหน แต่ส่วนตัวคิดว่านาน เพราะว่าพวกนี้มีมานานแล้ว กลุ่มคนที่ชอบความแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง สมมติว่าผมกินกาแฟเนี้ย ผมจะแต่งตัวแบบเนี้ย จะเลี้ยงสัตว์แบบเนี้ย ผมจะควงผู้หญิงแบบเนี้ย ผมจะใส่แว่นแบบเนี้ย จะไว้ผมแบบเนี้ย คิดว่าจะเลิกไหมล่ะ มันก็เป็นแบบนี้แหละ เพียงแต่ว่ามันจะได้รับความนิยมในกลุ่มใหญ่ไหม เพราะฮิปสเตอร์มันต้องไม่เป็นกลุ่มใหญ่ไง ฮิปสเตอร์มันเป็นตัวของตัวเอง ถ้ามันเหมือนกันหมดมันก็ไม่ใช่มันอยู่ด้วย Freedom" ขาโหดกล่าวสรุป

ภาษาไทยวันละคำ : ฮิปสเตอร์ ไม่ควรค่าแก่การบันทึก  

ขณะที่ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย กล่าวว่า คำว่า ฮิปสเตอร์ นี่เพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกตรงนี้ 

"เมื่อหลายปีก่อนคำว่า 'เด็กแนว' เราก็ตามอยู่นาน แต่ที่สุดก็ยังไม่ได้ฮิตเป็นวงกว้าง จึงไม่ได้นำมาลงในพจนานุกรมเล่มใหญ่ โดยคำหรือสแลงที่ใช้กันทั่วไป หมายถึงคำที่ไม่ตรงความหมาย ใช้ในมาตรฐานที่จะสามารถบันทึกพจนานุกรมเล่มใหญ่ได้ต้องใช้เวลานานมาก ต้องพิสูจน์ว่าใช้กันแพร่หลาย ทุกคนรู้และเข้าใจกันจริงๆ อาจจะเก็บได้ในพจนานุกรมคำใหม่เล่มเล็กๆ ไม่ใช่พจนานุกรมเล่มใหญ่ อย่างที่บอกตอนนี้คำว่าฮิปสเตอร์เกิดขึ้นมาใหม่เกินไป อย่างคำว่า 'เด็กแนว' ก็ยังไม่ได้เก็บ ยังไม่ได้เก็บเข้ารวมพจนานุกรมเลย แต่เก็บเป็นข้อมูลเท่านั้นเองว่ามีคำนี้เกิดขึ้น ถามว่า 'ฮิปสเตอร์' ฮิตขนาดนั้นไหม อย่างที่บอกได้ยินที่ไทยรัฐออนไลน์ถามครั้งแรก" ราชบัณฑิตกล่าวสรุป.

สรุปแบบไม่มีข้อสรุปว่า ทำอะไร เทรนด์อะไรทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร แต่ทิ้งท้ายว่าถ้าทำในสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไรก็จะได้รับคำชื่นชมจากสังคม.

**รู้ไว้ใช่ว่า**

ฮิปสเตอร์ไทยต้อง ต่อต้านกระแสหลัก ไม่ดื่มกาแฟแฟรนไชส์ ใช้ทวิตเตอร์ เลี้ยงแมว ปลูกกระบองเพชร ปั่นจักรยานวินเทจ และไม่ยอมรับว่าเป็นฮิปสเตอร์ แม้ตัวเองจะมั่นใจว่าเป็นฮิปสเตอร์ก็ตาม.

ภาพประกอบ : pinterest.com

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top